Saturday, June 16, 2007

ต่างชาติชี้รัฐบาลแม้วคอรัปชั่น ชาวกรุงหนุนปุระชัยนั่งนายกฯ

http://www.komchadluek.net/2007/06/17/a001_123144.php?news_id=123144

เอแบคโพลล์สำรวจพบต่างชาติ 59.3 เห็นรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น "สนธิ บุญยรัตกลิน"เป็นบุคคลสำคัญต่อการชี้นำการเมืองไทยมากที่สุด อยากได้"ปุระชัย" เป็นนายกฯคนใหม่

(17 มิ.ย.) ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(The ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis)เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่องคนไทยและชาวต่างชาติคิดอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (The ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “คนไทยและชาวต่างชาติคิดอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน” โดยสำรวจจากคนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 1,750 คน ระหว่างวันที่ 13 - 16 มิถุนายน 2550 และชาวต่างชาติจำนวน 558 คน ระหว่างวันที่ 11 - 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา

สำหรับผลสำรวจในกลุ่มคนไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงบุคคลที่มีนัยสำคัญชี้นำการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 46.3 ระบุ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองลงมา คือ ร้อยละ 24.8 ระบุเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 20.5 ระบุ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร้อยละ 16.0 ระบุ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ร้อยละ 9.7 ระบุอื่นๆ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ตามลำดับ

และเมื่อสอบถามถึงกลุ่มบุคคลนัยสำคัญชี้นำการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 26.2 ระบุเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ร้อยละ 16.7 ระบุ ทหารหรือกองทัพ ร้อยละ 13.6 ระบุ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย ร้อยละ 9.6 ระบุผู้นำม็อบ/ ประชาชนที่ก่อม็อบ PTV ร้อยละ 9.3 ระบุชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 7.5 ระบุ กลุ่ม ส.ส. /กลุ่มนักการเมือง ร้อยละ 6.8 ระบุรัฐบาล และ ร้อยละ 10.9 ระบุอื่นๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์/กลุ่มประชาธิปไตย และม็อบต่อต้านทักษิณ เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงตัวบุคคลที่มีนัยสำคัญชี้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้านคุณธรรม พบว่า ร้อยละ 46.3 ระบุ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รองลงมาคือร้อยละ 26.7 ระบุ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ร้อยละ 15.9 ระบุ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร้อยละ 7.4 ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 5.1 ระบุ นายชวน หลีกภัย และร้อยละ 7.8 ระบุอื่นๆ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ / นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มบุคคลนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเชิงคุณธรรม พบว่า ร้อยละ 27.5 ระบุเป็นชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป รองลงมาคือร้อยละ 24.4 ระบุเป็นพระสงฆ์/ศาสนา ร้อยละ 22.3 ระบุเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ร้อยละ 20.3 ระบุเป็นรัฐบาล ร้อยละ 5.1 ระบุ กลุ่มผู้สนับสนุน พรรคไทยรักไทย ร้อยละ 4.4 ระบุนักวิชาการ/ ครูอาจารย์ และร้อยละ 8.3 ระบุอื่นๆ อาทิ กลุ่ม ส.ส. นักการเมือง และ คตส. เป็นต้น

ประเด็นสำคัญคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาเกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.6 อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นภายในไม่เกิน 3 เดือนนี้ ร้อยละ 31.6 อยากให้มีการเลือกตั้งภายใน 3 - 6 เดือน และร้อยละ 19.8 อยากให้มีการเลือกตั้งหลังจาก 6 เดือนขึ้นไป

เมื่อสอบถามถึงบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในทรรศนะของประชาชน พบว่า ร้อยละ 41.7 ระบุ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองลงมาคือร้อยละ 37.7 ระบุนายอานันท์ ปันยารชุน ร้อยละ 34.6 ระบุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 31.0 ระบุนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ร้อยละ 28.1 ระบุ นายชวน หลีกภัย และร้อยละ 17.5 ระบุอื่นๆ อาทิ นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ดร.นพดล กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยังได้สำรวจความคิดเห็นของชาวต่างชาติ ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการที่สำรวจพบ คือ

ชาวต่างชาติที่ถูกศึกษาในครั้งนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.4 รับรู้สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ในขณะที่เพียงร้อยละ 14.6 ไม่รับรู้เลย ผลสำรวจพบด้วยว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 เห็นด้วยต่อข้อความที่ว่า รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่ร้อยละ 7.4 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 33.3 ไม่มีความเห็น

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ชาวต่างชาติประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.0 เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า การขับไล่ คมช. จะนำไปสู่ความรุนแรงต่อไปในประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 25.6 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 25.4 ไม่มีความเห็น ส่วนความคิดเห็นต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยหลังการเลือกตั้งใหม่ พบว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 คิดว่าจะทำให้มีเสถียรภาพ ในขณะที่ร้อยละ 12.9 ไม่คิดว่าจะทำให้มีเสถียรภาพ และร้อยละ 19.2 ไม่มีความเห็น

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.9 เห็นว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นวิธีที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาสถานการณ์การเมืองไทยได้ดีที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 12.1 ไม่คิดว่าเหมาะสม

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 คิดว่า คนไทยจะมีความรักความสามัคคีกันในปีนี้ เพราะ เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / เพราะคิดว่าคนไทยรักความสงบ เพราะคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความสุข และเพราะคิดว่าประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาในจิตใจของคนไทย เป็นต้น ในขณะที่เพียงร้อยละ 18.1 คิดว่าคนไทยคงไม่มีความรักความสามัคคีกัน เพราะมีแต่เหตุการณ์ที่วุ่นวายหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการเมือง ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่น่าพึงพอใจสำหรับคนไทยคือ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.7 ระบุว่ามีความตั้งใจจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก ในขณะที่ร้อยละ 4.3 เท่านั้นที่ไม่คิดว่าจะกลับมาเมืองไทยอีก ยิ่งไปกว่านั้น ชาวต่างชาติเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.3 ระบุถ้าเกิดใหม่ได้ อยากเกิดมาเป็นคนไทย ในขณะที่ร้อยละ 56.1 ระบุไม่อยาก เพราะพอใจกับเชื้อชาติของตน เพราะสถานการณ์การเมืองไทยและเศรษฐกิจไทยไม่ดี เพราะสังคมไทยยุ่งยากซับซ้อนเข้าใจยาก และเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนเกินไป เป็นต้น และพบด้วยว่าชาวต่างชาติร้อยละ 13.6 ระบุขอคิดดูก่อนเพราะยังไม่แน่ใจว่าถ้าเลือกเกิดใหม่ได้จะเลือกเกิดเป็นคนไทยหรือไม่

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สำหรับคนไทยแล้ว บุคคลนัยสำคัญต่อการเมืองไทยขณะนี้คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ถ้ากล่าวถึงบุคคลนัยสำคัญต่อสังคมคุณธรรมของประเทศขณะนี้คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในขณะที่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย และประชาชนทั่วไปคือกลุ่มบุคคลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยในช่วงเวลานี้ โดยประชาชนคนไทยอยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางออกของสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กำลังถูกมองว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภายใต้ข้อจำกัดของตัวเลือกทางการเมืองภายหลังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง 111 แกนนำพรรคไทยรักไทย

ในขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นทางออกที่ดีที่สุดเช่นกัน และหวังว่าคนไทยจะรักและสามัคคีกันในปีนี้เพราะรู้ว่าปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคิดว่าคนไทยรักความสงบ โดยส่วนใหญ่อยากกลับมาเมืองไทยอีก และเกือบ 1 ใน 3 ระบุถ้าเลือกเกิดใหม่ได้อยากเกิดมาเป็นคนไทย

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจออกมาเช่นนี้ พวกเราคนไทยน่าจะลดอคติที่มีต่อกัน เพราะอคติเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่คนไทยเหลือน้อยลงไป พวกเราน่าจะนึกถึงวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตที่มีน้ำใจเกื้อกูลกัน เอื้ออาทรต่อกัน เพราะความดีงามเหล่านี้เป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นในสังคมประเทศทั่วโลกและครอบครองใจชาวต่างชาติที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสสังคมไทย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศในขณะนี้อยู่ในมือของคนไทยทุกคนที่จะหันหน้ามาเจรจากันด้วยสันติวิธีและช่วยกันนำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปได้

No comments: