Thursday, June 14, 2007

ต้องให้กำลังใจกระบวนการปราบโกง

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=41134&NewsType=2&Template=1

ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือ โต้แย้ง จากกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 52,884 ล้านบาท โดยใช้มูลเหตุในการดำเนินการคือ มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวก ได้ทุจริตประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติได้ทรัพย์สินโดยมิสมควรจากการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้ได้ประโยชน์ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยรวม ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากผลการตรวจสอบและไต่สวนของอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ของ คตส.

ตามขั้นตอนหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกถูก อายัดทรัพย์ สามารถเข้าชี้แจงได้ด้วยตัวเองหรือส่งตัวแทนเข้าชี้แจงภายในเวลาที่กำหนด 60 วัน แต่ที่น่าสนใจท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการต่อท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คงจะเป็นการเปิดเผยของนายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. ที่ระบุว่า มีการยักย้ายถ่ายเทเงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบริษัทเทมาเส็ก จากวงเงินมูลค่า 73,000 ล้านบาท เหลือเพียง 52,884 ล้านบาท โดยเป็นข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้กระจ่างโดยเร็วว่า เงินที่หายไปนำไปดำเนินธุรกรรมทางด้านใดบ้าง

ที่สำคัญคือ คตส. ควรจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การออกมาตรการดังกล่าวมาบังคับใช้กับอดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 โดยเร็ว เพื่อไม่ให้คนบางกลุ่มนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นและขยายผลว่า มติของ คตส. ในการเสนออายัดทรัพย์เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือที่มีการระบุว่า คตส. ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เหมือนกับกรณีที่คนบางกลุ่มพยายามโต้แย้งว่า การวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งของคนในสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันจากปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบุคคลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขจะต้องเร่งยุติปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

หลังจากที่ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เข้าล้มล้างรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยใช้เหตุผล 4 ประการที่ประกอบด้วย 1. บ้านเมืองมีความแตกแยก 2. องค์กรอิสระถูกแทรกแซง 3. มีการกระทำที่ส่อว่าจะทุจริตและคอร์รัปชัน และ 4. การกระทำที่ส่อว่าหมิ่นเบื้องสูงนั้น คนส่วนใหญ่เห็นว่าการผลักดันให้มีองค์กรในการตรวจสอบข้อครหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันดูจะมีผลงานคืบหน้ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น คตส. และ ป.ป.ช. ทั้งที่การตรวจสอบเรื่องความไม่ถูกต้องในสังคมมักจะไม่มีใครกล้ารับทำหน้าที่นี้ โดยเกรงว่าจะมีปัญหา ดังนั้นคนที่อยากเห็นความถูกต้องในสังคมต้องช่วยกันให้กำลังใจกับ คตส. และ ป.ป.ช. ในการทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและนำทรัพย์สินที่ถูกฉ้อฉลกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติโดยเร็ว.

No comments: