Saturday, January 13, 2007

ตั้งอนุไต่สวน"ซีทีเอ็กซ์"ผิดชัด แม้ว-คงศักดิ์ สุริยะ-ศรีสุข ข้อหาละเว้นฯ

เดลินิวส์
14 มกราคม 2550

เฉ่ง “สรรพากร” พลาดตอบหนังสือ “เด็กพจมาน” ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เกี่ยวข้อง “วิโรจน์”ประสาน “หม่อมอุ๋ย” ชลอประเมินภาษีหวั่นพลาด คตส.พร้อมตั้งอนุไต่สวนซีทีเอ็กซ์ เตรียมล่อยกแก๊ง “แม้ว-สุริยะ-คงศักดิ์-ศรีสุข” ฐานเป็นตัวการ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โทษสูงสุดคุก 10 ปี ขณะที่กล้ายางไม่น้อยหน้า ชงตั้งอนุไต่สวนเชือดตั้งแต่เจ้ากระทรวง “เสี่ยจ้อน” แฉอีก ปูดแก๊งก์เจ๊ฮุบโครงการเขตปลอดอากรใน “สุวรรณภูมิ” แฉขั้นตอนขบวนการตั้งบริษัทผี โวเดินหน้ายื่นหลักฐานเด็ดมัด “เจ๊แดง”

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. นายบรรเจิด สิงคะ เนติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้อนุตรวจสอบได้รวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปข้อมูลได้ชัดเจนแล้วว่ามีการทุจริต ซึ่งอนุกรรมการตรวจสอบจะเสนอให้ตั้งอนุไต่สวนที่คาดว่าน่าจะมาจากอนุกรรมการตรวจสอบชุดเดิมในวันจันทร์ที่ 15 ม.ค.นี้ ส่วนจะมีนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้อง หรือไม่คงยังไม่สามารถตอบได้เพราะขึ้นอยู่กับที่ประชุม

รายงานข่าวแจ้งว่า อนุตรวจสอบกล้ายางฯ ได้ตั้งประเด็นการสอบออกเป็น 3 ประเด็น คือ ตรวจสอบเพื่อเอาผิดในระดับนโยบายข้าราชการและบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล โดยก่อนหน้านี้มีการวิตกกังวลว่า หลักฐานอาจจะสาวไม่ถึงนักการเมือง จะเอาผิดได้เพียงข้าราชการและบริษัทเอกชนเท่านั้น อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมเพื่อสรุปผลการทำงานล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุตรวจสอบฯ สามารถสรุปผลเพื่อเอาผิดนักการเมืองได้แล้ว ไล่ไปตั้งแต่นัก การเมืองระดับเจ้ากระทรวงฯ ลงไปจนถึงอธิบดีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าล็อกสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ บ.เอกชน

อีกด้าน หลังจากที่นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ชี้แจงการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น กับ บจก.แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ ต่อคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตนไม่ได้สั่งให้นางปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ทำหนังสือสอบถามเรื่องการเสียภาษีไปยังกรมสรรพากรนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่า ในส่วนของกรมสรรพากรไม่น่าที่จะไปตอบคำถามดังกล่าว เพราะนางปราณีสอบถาม โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการซื้อขายหุ้น ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดของกรมสรรพากร

เมื่อถามว่านายสมหมาย ภาษี รมช. คลัง ระบุกรมสรรพากรไม่สามารถประเมินภาษีได้ เพราะต้องรอผลสอบของ คตส.ก่อน นายวิโรจน์ กล่าวว่า คตส. คงไม่มีอำนาจสั่งการกระทรวงการคลัง แต่ที่นายสมหมาย ออกมาพูดอย่างนี้อาจเป็นเพราะว่า ตนได้เข้าพบ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รมว.คลัง และแจ้งให้กรมสรรพากรชะลอการประเมินภาษีไปก่อนเพื่อให้รอผลสรุปของ คตส. เพราะคิดว่าเมื่อสอบปากคำของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร เสร็จคณะอนุกรรมการตรวจสอบจะสามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้เลย ซึ่งจะทำให้ชัดเจนว่าการประเมินภาษีควรใช้ประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (2) หรือ (8)

แหล่งข่าวจาก คตส. กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ว่า ในวันจันทร์ที่ 15 ม.ค. นี้คาดว่าจะมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน เนื่องจากมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว เบื้องต้นหลังจากที่มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้วจะเป็นขั้นตอนการตั้งข้อกล่าวหา และต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยคดีนี้ถือเป็นความผิดทางอาญาในมาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 83 ฐานเป็นตัวการที่ทำให้รัฐเสียหายซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหารวม 23 คน

โดย 4 คนคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ในฐานะอดีตกรรมการบริหาร ทอท. และนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตประธานบอร์ด บทม. ที่จะถูกดำเนินคดี 2 กระทง คือ 1. ในช่วงการทำสัญญากับไอทีโอ ได้มีการปฏิบัติตามสัญญานั้น ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว และ 2. ในช่วงบริษัท จีอี อินวิชั่น ไม่ขายผ่านตัวแทน ได้มีการซื้อขายโดยตรง ซึ่งถือว่าเป็นการทำนิติกรรมอำพราง ถือว่าผิดเช่นกัน แต่ในส่วนนี้ยังอยู่เพียงแค่การชี้มูลเท่านั้น ซึ่งในส่วนผู้ถูกกล่าวหา 23 คนนั้น คงไม่มีการกันใครเอาไว้เป็นพยานแน่นอน

ทั้งนี้ในมาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 83 ระบุ ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นาย อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต ปชป. แถลงว่า จากการติดตามตรวจสอบโครงการบริหารเขตปลอดอากรและศูนย์โลจิกติกส์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ได้ว่าจ้าง บจก. ไทย แอร์พอตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส (แทกส์) โดยร่วมลงทุนกับ ทอท. ลงนามในสัญญาวันที่ 28 เม.ย. 2549 เป็นระยะเวลา 10 ปี

พบว่าการว่าจ้างดังกล่าวไม่มีการประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และยังพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบริษัท แทกส์ ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท โฟรบิชเซอร์ ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ที่เข้ามากว้านซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของแทกส์ถึงร้อยละ 48.5 ที่สำคัญ มีการโยงใยถึงแก๊งเจ๊คนหนึ่งที่ได้วางแผนปล้นชาติด้วยการยักยอกเงินออกจากแทกส์ ตั้งแต่ปี 2547-2548 แล้วนำเงินนี้ย้อนกลับมาซื้อหุ้นใหญ่ของแทกส์ ซึ่งน่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ แทกส์ไม่เคยได้รับงานในสนามบินสุวรรณภูมิเลย แต่เมื่อบริษัท โฟรบิชเซอร์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัท แทกส์ ทำให้ได้งานในสนามบินแห่งนี้โดยไม่ต้องแข่งขัน

"น่าตกใจตรงที่หลักฐานการจดทะเบียบของบริษัท โฟรบิชเซอร์พบว่าเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการต่ำกว่าร้านบะหมี่ในประเทศไทยเสียอีก โดยระบุผลประกอบการในปี 2546 ว่ามีรายได้แค่ 120 บาท และปี 2547 มีรายได้แค่ 100 บาท แต่เมื่อช่วงปลายปี 2547 กลับมีเงิน 198 ล้านบาท มาซื้อหุ้นบริษัท แทกส์ ได้ จึงน่าแปลกใจมากว่าเงินก้อนนี้มาจากไหน" นาย อลงกรณ์กล่าวและว่า จากการตรวจสอบผู้ถือหุ้นบริษัท โฟรบิชเซอร์ พบว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นคนสิงคโปร์และคนไทย ซึ่งจากการไปตรวจสอบเลขที่บ้านของผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยพบว่าเป็นบ้านร้าง แต่ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว จึงเชื่อว่าผู้ถือหุ้นรายนี้เป็นนอมินีทำการแทนไอ้โม่งหรืออี โม่งอย่างแน่นอน

นอกจากนี้พบว่าบริษัท แทกส์ได้ว่าจ้างบริษัท ดีเทค เป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท แต่ทำงานที่ปรึกษาแค่ 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งบริษัทนี้จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น และมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับบริษัท โฟรบิชเซอร์ เพราะบริษัท ดีเทค และบริษัท โฟรบิชเซอร์ มีที่ตั้งอยู่เลขที่เดียวกันในสิงคโปร์ เพื่อใช้ในการติดต่อ และทำธุรกรรมต่าง ๆ

"ผมมีคำถามว่า ทอท. ที่มีบอร์ดไปเป็นกรรมการบริษัท แทกส์ อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้าง บริษัท ดีเทค ได้อย่างไร เพราะเป็นการปู้ยี่ปู้ยำงบประมาณ ดังนั้นในวันที่ 17 ม.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ผมจะเดินทางไปยื่นหลักฐานให้ คตส. และขอให้ตรวจสอบบอร์ด ทอท. ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธานในขณะนั้นด้วย เพราะเป็นตัวแทนบอร์ด ทอท. ที่นั่งในตำแหน่งบริหารของแทกส์ที่เป็นบริษัทลูก รวมทั้งให้สอบผู้ที่เกี่ยวข้องที่เชื่อว่าเป็นนอมินีของเจ๊คนหนึ่ง มีชื่อว่า นาย ส. และ น.ส.ป. จากนั้นผมจะไปหารือกับนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการให้เป็นตัวอย่างด้วย" นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ ว่าร่ำรวยผิดปกติ และแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จนั้น ภายในสัปดาห์นี้ตนจะประสานกับคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ว่าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ "การยื่นตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติเป็นเพียงความผิดปลายน้ำ จึงจำเป็นจะต้องว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อจะได้ข้อเท็จจริงของกระบวนการโกงชาติ ตลอด 5 ปี ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ คาดว่าจำนวนเงินที่สูญเสียไปรวมถึงสิทธิในสัมปทานต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท"

No comments: